วัดจอมแจ้ง ตั้งอยู่ริมน้ำยามทางด้านทิศตะวันตกของหมู่ ๓ บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ การก่อสร้างไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า มีการสร้างต่อจากวัดทุ่งและเคยมีพระภิกษุสามเณรที่มาศึกษาเล่าเรียนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้กลายเป็นวัดร้างมาเป็นเวลาหลายปี หากแต่ยังมีทะเบียนเลขที่วัดจากทางกรมศาสนาอยู่วัดจอมแจ้งมีสถานนที่สำคัญ คือ ปากอุปคุต มีความสำคัญและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก สำหรับประเพณีที่สำคัญ คือ ทำบุญเดือนสามและบวชชีพราหมณ์เดือนสี่ของทุกปี
วัดกลางพระแก้ว วัดกลางพระแก้ว (เดิมชื่อวัดท่าฮัง) หรือวัดทักสิมาวาด ตั้งอยู่ที่ ๕๗ หมู่ ๑๖ ถนนรวมมิตร บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ มีทางสาธารณะรอบวัด มีบ้านเรือนของราษฏรตั้งล้อมรอบทั้ง ๓ ด้าน ส่วนด้านทิศเหนือติดลำน้ำยาม เมื่อครั้งท้าวสีสุราช ท้าวนามโคตร ท้าวเพีย วรบุตร ท้าวติ่วสร้อย ได้พาราษฏรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านม่วงริมยาม มีพระสงฆ์สามเณร คนชรา คนหนุ่มสาว คนฉกรรจ์ ท้าวเพีย เมื่อรวมกันได้หลายครอบครัวแล้ว รวมทั้งหมด ๒,๓๓๙ คน ต่อมาบ้านม่วงริมยาม มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นมีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งอุดมสมบูรณ์ และเห็นว่าทำเลที่เหมาะในการตั้งสำนักสงฆ์ จึงได้ย้ายที่พักสงฆ์มาทางด้านทิศตะวันออกบริเวณริมน้ำยามที่เรียกว่า "ท่าฮัง"และผู้คนก็ขยายบ้านเรือนมาทางทิศตะวันออก เมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จึงขออนุญาตหลวงพลานุกูล (ท้าวสีสุราช) เป็นเจ้าเมืองคนแรก จึงอนุญาตสร้างวัดอย่างถูกต้อง และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาสร้างพัทธสีมาขึ้นในวัดนั้น ๑ หลัง จึงขนานนามวัดนั้นว่า "วัดทักสิมาวาด (วัดทักสิมาวาส)" ปัจจุบัน คือ วัดกลางพระแก้ว
วัดทุ่ง วัดทุ่ง : เดิมชื่อวัดทัดสิมาวาด เป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมที่ ๒ รองจากวัดกลางพระแก้ว ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๒ บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร สร้างเมื่อ วัน เดือน ปี ใด ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐานแน่ชัด หากแต่มีการบันทึกไว้จากหนังสือภูมิวัดเดิมเมืองอากาศเขียนเป็นอักษรไทยน้อยไว้ตอนหนึ่งว่า "ต่อมาบ้านเมืองกว้างขวางเจริญขึ้นมามาก ความหลวงหลาย จึงได้ขยายออกไป สร้างวัดอีกทางด้านทิศตะวันออก ท่านพระอาจารย์พิมพร้อมด้วยพระสงฆ์ สามเณรและญาติโยม จึงพากันสร้างวัดขึ้นอีกหนึ่งวัดและขนานนามวัดนั้นว่า "วัดทัดสิมาวาด" แต่เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นทุ่งว่างยุใกล้ผู้คน จึงพากันเรียกวัดทุ่ง ต่อมาถึงปัจจุบัน และวัดทุ่งเคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอนุโมทนาพระราชทานวิสุงคามสีมาพระอุโบสถวัดทุ่ง เพื่อเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมและพิธีกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม รัชกาลที่ ๕ รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔
วัดไตรภูมิ
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ หมู่ที่ ๔ บ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตามประวัติแจ้งว่า ในช่วงรัชกาลที่ ๕ เดิมบ้านอากาศมีอยู่ ๓ วัด คือ วัดกลาง วัดทุ่ง วัดจอมแจ้ง วัดทุ่งเป็นวัดที่ใหญ่และมีพระภิกษุ สามเณรจำนวนมาก หลวงพ่อเก๊าซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดนั้นมีความเห็นว่าไม่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา จึงขอแยกวัดไปตั้งทางทิศเหนือติดริมน้ำยาม ชื่อ วัดใต้ เมื่อหลวงพ่อเก๊ามรณภาพลง วัดใต้จึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๐ หลวงพ่อมุนพร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันย้ายวัดใต้จากที่เดิมไปตั้งวัดใหม่ทางด้านทิศตะวันออกจากที่เดิมใกล้บริเวณหนองหญ้าปล้องและในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงพากันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดไตรภูมิ
วัดอุดมรัตนาราม(วัดป่านอก) วัดอุดมรัตนาราม ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ในปีนั้นหลวงปู่อุ่น อุตตฺโม มีความประสงค์จะสร้างวัดของฝ่ายธรรมยุตขึ้นที่บ้านอากาศ เพราะขณะนั้นวัดฝ่ายธรรมยุตยังไม่มี จึงได้ลงความเห็นให้เลือกเอาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านม่วงริมยาม เพราะเห็นว่าเงียบสงบดี แล้วจึงได้พากันเริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ต่อมาเมื่อพระภิกษุสามเณรมีมากขึ้น จึงได้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นถึง ๑ หลัง สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น ๑ หลัง จนต่อมาก็ได้สร้างวัดที่สมบูรณ์แบบขึ้น และหลังจากที่หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม ถึงแก่มรณภาพลง จึงได้มีการก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม เพื่อบรรจุอัฐิและเก็บรักษาเครื่องบริขารของท่าน ตลอดจนประดิษฐานรูปเหมือนเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้กราบไหว้สักการะบูชา
วัดศรีโพนเมือง วัดศรีโพนเมือง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ใด ไม่ปรากฏแน่ชัด ได้สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามีนายเหง้าเมืองกลาง เหง้าละครเป็นผู้เริ่มในการเลือกสถานที่ โดยมีเนื้อที่ ๒ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นพื้นที่ของวัดศรีโพนเมืองในปัจจุบัน พื้นที่อีกส่วนหนึ่งมีการก่อสร้างพระธาตุแต่ยังมิแล้วเสร็จ และไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หากแต่เป็นตำนานเล่าขานสืบทอดกันของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในสมัยก่อนท่านพระอาจารย์สีทัดเป็นเกจิอาจารย์สายปฏิบัติกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาก มีถิ่นกำเนิดที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงประเทศลาว ท่านได้ธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานในฝั่งประเทศไทย มีผู้คนรู้จักและเคารพนับถือท่านได้ธุดงค์มาพักแรมที่บ้านอากาศบ่อยครั้ง จนรู้จักมักคุ้นญาติโยมชาวบ้านเป็นอย่างดี ท่านจึงประชุมเพื่อกาอสร้างสถานที่สำคัญแห่งนี้ แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ อาจเป็นเพราะพระธาตุมีขนาดใหญ่ การขาดแคลนน้ำและขาดวัสดุในการก่อสร้าง ท่านจึงไปสร้างแห่งใหม่ คือพระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
พระธาตุเมืองอากาศ ความเป็นมา การสร้างการก่อสร้างพระธาตุเมืองอากาศ ในอดีตกาลบ้านอากาศย้ายถิ่นมาจากเมืองฮ้อมท้าวฮูเซ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๙๖ รวมเป็นเวลา ๑๕๓ ปีนับตั้งแต่การตั้งเมืองอากาศ แต่ยังไม่มีพระธาตุประจำเมืองเคยมีคนปรารรภสร้างแต่ก็ไม่สำเร็จและก็ย้ายไปสร้างพระธาตุท่าอุเทนแทน ปัจจุบันฐานพระธาตุที่สร้างไม่สำเร็จก็ยังคงปรากฎอยู่ ต่อมาท่านพระครูพิมลธรรมนิเทศก์ได้เดินทางไปยังประเทศพม่า สังเกตุเห็นทุกวัดมีเจดีย์พระธาตุองค์ต่างๆจึงตั้งจิตอธิฐานที่เจดีย์ชเวดากองว่า "ขอให้ได้สร้างพระธาตุประจำเมืองอากาศให้สำเร็จ เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะของคนทั่วไป และเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา" จากนั้นท่านพระครูพิมลธรรมนิเทศก์เดินทางกลับมาในปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ จึงได้พาญาติโยมชาวเมืองอากาศก่อสร้างโดยมีฐานกว้าง ๙ x ๙ เมตร สูง ๓๗ เมตร สร้างเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร พระเดช พระคุณ พระพรหมเวที เจ้าคณะภาค ๘ กรรมการมหาเถระสมาคม มาเป็นประธานในการบรรจุ อนึ่งทางวัดมีความประสงค์ขอทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ทรงเสด็จเป็นประธานประกอบพิธียกฉัตรเจดีย์พระธาตุเมืองอากาศ เพื่อเป็นมิ่งมงคล สืบไปชั่วกาลนาน
พระอุปคุต อุปคุต เป็นชื่อของพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ปาฏิหารย์มากสามารถเข้าสู่จตุตถฌานอธิษฐานจิตให้เกิดอภิญญาญาณ กระทำอิทธิฤทธิ์ได้ตามความประสงค์ สถานที่ตั้งปากอุปคุตติดกับวัดจอมแจ้ง ทางด้านทิศตะวันตก หมู่ ๓ บ้านอากาศ ปากอุปคุต ณ ที่แห่งนั้นชาวเผ่าไทโย้ยบ้านอากาศตั้งแต่บรรพบุรุษมาได้ยึดถือและกำหนดที่นั้น เป็นที่อัญเชิญและอาราธนานิมนต์กึสอุปคุตเถรระผู้มีอิทธิฤทธิ์ปราบพระยามารทั้งหลายได้อย่างราบคาบในงานพิธีมงคลทางพุทธศาสนา เช่น งานบุญพระเวสสันดร เป็นต้น ชาวไทโย้ยก็จะไปทำพิธีอาราธนาและนิมนต์อัญเชิญมาปกปักรักษาในงานนั้นไม่ให้มีเหตุเภทภัยนาๆประการ และอาราธนาขอให้อุปคุตเถระปกปักรักษาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อากาศอำนวยให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกๆ ไป ดังเรื่องราวในอดีตกาลนานมาพุทธศาสนาล่วงแล้วสองร้อยแปดสิบพวัสสามีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า พระยาศรีธรรมมาโศกราช เสวยราชสมบัติในเมืองปาตลีบุตรมหานคร พระองค์ตั้งอยู่ในคำสอนของเจ้านิโคตรสามเณรมีพระทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์เพื่อบูชาพระไตรปิฏกและเพื่อนำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าเข้าบรรจุไว้ทุกเจดีย์ครั้นเสร็จแล้วพระองค์ก็กำหนดวันสมโภชเจดีย์เป็นเวลาเวลาเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน แต่พระองค์ทรงกลัวพระยามาร จะมารังควาญ ก่อเหตุร้าย ความไม่สงบทั้งหลายทั้งปวง ในงานสมโภช จึงนภัสการพระภิกษุและสามเณรปรึกษาหารือ จึงหาผู้ที่จะมาป้องกันและกำจัดยับยั้งพระยามารไว้จนกว่าจะสมโภชพระเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์จะครบกำหนด พระยาศรีธรรมมาโศกราชผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็อาราธนานิมนต์พระอรหันต์กีสอุปคุตเถระไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ครั้นได้กาลเวลาอันเป็นวันสมโภชพระอรหันต์กีสอุปคุตเถระก็สำแดงอิทธิฤทธิ์กำจัดมารผู้มารบกวนราวีจนครบกำหนดวันสมโภช เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน นั้นแล ด้วยข้อมูลและเหตุผล คือ จุดกำเนิดเกิดปากอุปคุต ณ ที่ปากฮ่องกะดัน เพราะเป็นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมมากแล ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีตกาลล่วงนานมาแล้วนั้น พระอรหันต์กีสอุปคุตเถระจะเสวยสุขสงบในท้องมหาสมุทร ดังนั้น ผู้สืบประวัติตามจารีตประเพณีจึงยึดถือเอาปากน้ำหรือสายน้ำที่เหมาะสมมาสมมุติฐาน
ประวัติพิพิธภัณฑ์ พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม) พิพิธภัณฑ์พระครูบริบาลสังฆกิจ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านพระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม) เดิมชื่อ อุ่น วงศ์วันดี เกิดที่บ้านอากาศ อำเภอวานรนิวาส (อำเภออากาศอำนวยในปัจจุบัน) จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๕๒ โยมบิดาชื่อนายอุปละ วงศ์วันดี โยมมารดาชื่อ นางบุดดี วงศ์วันดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน อุปสมบทเป็นพระธรรมยุต ท่านได้อุปสมบทอีกครั้งเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ณ อุทกุกเขปสีมา (สิมน้ำ)ที่ท่าบ้านร้าง กลางลำน้ำยาม บ้านอากาศ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓ โดยมีพระราชเวที (จูม พนธุโล) วัดโพธิ์สมถรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร วัดอิสสระธรรม บ้านวาใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน ตามแบบอย่างของพระอาจารย์มั่น ภูริฑตฺโต เป็นเวลา ๔ ปี ปฏิปทา นับตั้งแต่ที่ท่านบวชเข้ามาในคณะกรรมฐานแล้ว ก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นผู้เด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติกำจัดกิเลส เพื่อให้หลุดพ้นอย่างแท้จริง ท่านเป็นคนพูดน้อย มีคำเทศนาน้อยและเป็นผู้มีนิสัยมักน้อย สันโดษ ไม่ใช้สิ่งของฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะในเรื่องผ้านุ่ง ผ้าห่ม ท่านจะอธิษฐานใช้เฉพาะผ้าที่จำเป็นเท่านั้น ท่านทำความเพียรของท่าน ถ้านเป็นวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาท่านจะพาญาติโยมทำความเพียรตลอดทั้งคืน หากเป็นวันธรรมดา ในตอนหัวค่ำหลังจากทำวัตรเย็น ท่านจะพักผ่อนจำวัดเสียก่อน ครั้งพอถึงเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง ท่านจะลุกขึ้นมาทำความเพียรโดยการเดินจงกรม พอถึงตี ๒ จะเปลี่ยนมานั่งสมาธิ ตี ๓ จะพักผ่อนอีก ตี ๔ ลุกขึ้นมานั่งสมาธิจนสว่าง แล้วล้างหน้าแปรงฟันเตรียมตัวออกบิณฑบาต การอาพาธและมรณภาพ พ.ศ.๒๕๒๓ ท่านเริ่มอาพาธ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณาณิคม มรณภาพเมื่อเวลาเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. ด้วยอาการสงบและได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๕ ภายหลังพระราชทานเพลิงศพแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ แม่ชีบุญฮู้ พรมเทพ ที่วัดอุดมรัตนาราม พบว่าอัฐิที่เก็บรักษาไว้บูชาแปรสภาพเป็นพระธาตุ ๒ องค์ มีสัณฐานดังข้างสารหัก ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๓ คณะศิษยานุศิษย์ จึงได้ประชุมกันและได้พิจารณาเห็นสมควรจะสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ เพื่อบรรจุอัฐิและเก็บรักษาเครื่องบริขารของท่าน ตลอดจนประดิษฐานรูปเหมือนเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้กราบไหว้สักการะบูชา และได้จัดงานวางศิลาฤกษ์เจดีย์ เมื่อวันเสารที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๘ และดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนแล้วเสร็จ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทำการฉลองเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ |