หน้า 1 จาก 5
ฉบับสมบูรณ์ ดาวน์โหลด ได้ที่นี่ ครับ
ภูมิหลังความเป็นมา โดยประวัติศาสตร์นั้น ภาคอีสานมีความเจริญรุ่งเรื่องมีผู้คนอาศัยมาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฎหลักฐานโบราณคดี พบว่าอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 1,200-5,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมนุษย์ในสมัยนั้นมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ตามเพิงผาตามถ้ำและบริเวณใกล้ริมแม่น้ำ เช่น ถ้ำแถบอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีและตามหน้าผา ตามแนวริมแม่น้ำโขง เช่น ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น คนในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาว เพราะเป็นเขตปกครองของอาณาจักรล้านช้างมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำชีตอนบน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม พ.ศ. 1896 หรือ ประมาณ 400 ปีเศษ จนถึงสมัยกรุงธนบุรี อิทธิพลของล้านช้างทางการเมืองการปกครองในแถบนี้ ทำให้มีแบบแผน การปกครองตามแบบของหลวงพระบางเวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์ เช่น ตำแหน่งอาญาสี่หรืออาญาสี่ที่ประกอบไปด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร อิทธิพลนี้จะมีเฉพาะเขตอีสานเหนือหรือบริเวณที่เคยเรียกว่า มณฑลอุดรเท่านั้น ส่วนในเขตอีสานกลางและอีสานใต้ ยังคงเป็นดินแดนที่รกร้างว่างเปล่า และเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร คือ พวกเขมร กวย และข่า กลุ่มต่าง ๆนี้ มีความสัมพันธ์กับอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลาต่อมามากกว่าอำนาจทางการเมืองของฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จากการศึกษาประวัติศาสตร์อีสานพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ของภาคอีสานร้อยละ 95 ที่พูดภาษาไทยอีสาน หรือไทย - ลาว นอกจากนี้มีพูดภาษาภูไทย แสก ย้อ โส้ ข่า และโย้ย อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร นครพนม และบางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น จังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน และมีกลุ่มชาติพันธุ์ หลายกลุ่มอาศัยอยู่มากมาย กระจัดกระจายกันอยู่ในอำเภอต่าง ๆ เช่น กลุ่มไทอีสานกระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มภูไทยอาศัยอยู่มากในเขตอำเภอวาริชภูมิ และอำเภอพรรณนานิคม กลุ่มกะเลิงจะอาศัยอยู่มากในเขตอำเภอเมืองสกลนคร กลุ่มย้ออาศัยอยู่มากในเขตอำเภอเมืองสกลนคร กลุ่มโส้จะอาศัยอยู่มากในเขตอำเภอกุสุมาลย์ กลุ่มญวนจะอาศัยอยู่ทั่วไปในอำเภอเมืองสกลนคร และกลุ่มโย้ยจะอาศัยอยู่ในเขตอำเภอวานรนิวาสและอำเภออากาศอำนวย
<< เริ่ม < ก่อนหน้า 1 2 3 4 5 ต่อไป > สุดท้าย >>
|