หน้า 3 จาก 5
สภาพความเป็นอยู่ของชาวไทโย้ย
บ้านชาวโย้ยโบราณ มีลักษณะเด่นต่างจากชนกลุ่มอื่นๆตรงที่บ้านจะมีสองจั่ว มีที่รองน้ำฝนระหว่างชายคาจั่วทั้งสองตรงกลางของบ้านพอดี ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะได้เปลี่ยนไปตามกระแสวัฒนธรรมใหม่ๆ แต่สิ่งที่ยังคงรักษาไว้ คือมีระเบียงบ้านเหมือนเดิมแต่มีหน้าจั่วเดี่ยวหรือหลังคาบ้านเป็นลาด ๆ สำหรับบริเวณชั้นบนบ้านจะมีที่ทอผ้า ถ้าพิจารณาดูจะพบว่าชาวโย้ยมีความขยัน ขันแข็งสามารถทอผ้าได้เพราะงานเหล่านี้อาศัยความอดทน ละเอียดถ้าดูการทำงานแล้วพบว่าแทบจะไม่ได้หยุดเพราะหลังจากเสร็จจากการดำนาแล้ว ชาวโย้ยจะทอผ้าไปจนกว่าจะถึงฤดูการเก็บเกี่ยว และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว งานทอผ้าก็เริ่มขึ้นอีกเป็นอย่างนี้ตลอด จึงถือได้ว่าผู้หญิงชาวโย้ย มีความอดทนกรรมวิธีการทอผ้ามีหลายขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การตีฝ้าย, ทำเส้นใย, มัดหมี่, ย้อม,แล้วปั่นใส่หลอด ใส่กระสวยเตรียมทอ ในสมัยโบราณกรรมวิธีการย้อมผ้านั้นมีขั้นตอนมาก กว่าจะได้ผ้าที่มีคุณภาพดีโดยเฉพาะสีจากต้นครามที่ย้อมเป็นสีดำ สีไม่ตกไม่ลอกคุณภาพเยี่ยม จากการที่บิดา มารดาได้ปลูกฝังเรื่องการบ้านการเรือนตั้งแต่รุ่นลูก จากรุ่นลูกก็ถ่ายทอดมารุ่นหลานและต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันทำให้หญิงชาวโย้ยมีฝีมือในการทอผ้ามัดหมี่มากจนมีคำขวัญประจำอำเภออากาศอำนวยว่า "พระแก้วคู่บ้าน ศาลเจ้าปู่คุ้มเมือง ลือเลื่องผ้ามัดหมี่ ประเพณีไหลเรือไฟ ปลาใหญ่ลุ่มน้ำยาม สวยงามโย้ยกลองเลง " สภาพบ้านเรือนของชาวโย้ยมักนิยมขังสัตว์เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน ได้แก่ ไก่ วัว ควาย ซึ่งปรากฎมานานแล้ว ดังสาเหตุที่ว่าดูแลในยามค่ำคืนได้ ป้องกันสัตว์ร้ายเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยง เพราะสมัยก่อนเสืออาจจะเข้ามาทำร้ายลักกินสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ถ้าหากคอกสัตว์อยู่ห่างไกลบ้านเรือน ประกอบกับชาวโย้ยนิยมอยู่บนบ้านใต้ถุนบ้านจึงใช้เลี้ยงสัตว์ได้ ได้รับการบอกกล่าวว่าไม่ต้องพะวงกับการสร้างเล้าไก่ คอกวัว ,ควาย ประหยัดแรงงานทรัพย์สินในการก่อสร้าง ในแง่สาธารณสุขบ้านชาวไทโย้ยไม่ถูกต้องนัก สมควรรณรงค์เพื่อสุขภาพอนามัยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกระทำได้ไม่ยากในการเปลี่ยนแปลงของชาวไทโย้ย เนื่องจากทุกคนมีพื้นฐานที่สามัคคีเรียบง่าย
ที่อยู่อาศัย บรรพบุรุษชาวไทโย้ย นิยมเลือกสถานที่สร้างหมู่บ้านบนที่ดินที่เป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึงใกล้แหล่งน้ำมีท้องทุ่งที่ลุ่มสำหรับทำนา (ที่ดอนปลูกบ้านที่ลุ่มทำนา) ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโย้ยไม่มีใครเกิน นิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูงเล็กใหญ่ตามฐานะ แรก ๆ มุงด้วยหญ้าแฝก หญ้าคา ฝาแถบตอง (จักไม้ไผ่เป็นตอก สานตาหมากรุก 2 แผ่นประกบกันใบไม้ใหญ่ๆ เช่น ใบชาด ใบตองกุง ( ตองตึง ) เหน็บอยู่ตรงกลาง เรียกว่า " ฝาด้าน " เอาหญ้าที่ใช้มุงหลังคาทำเป็นฝาก็ได้ปูด้วยฟาก ( ไม้ไผ่ลำใหญ่สับสลับมิให้หลุดจากกันแผ่ออกเป็นแผ่นใหญ่) เครื่องเรือนในยุคนั้น ส่วนมากเป็นไม้ไผ่ ในยุคถัดมาคนรู้จักตีเหล็ก พวกเขาเจ้าตีเหล็กผ่าแป้นมุง ได้พากันตัดไม้ชาดลงมาตัดท่อนยาวประมาณ 60 -70 ซม. ใช้เหล็กผ่าแป้นนั้นแหละเป็นกระดานมุงหลังคาแทนหญ้า ยุคต้น ๆ ยังไม่มีตะปูก็เจาะรูสอดไม้ไผ่เข้าไป ทำเป็นตะขอเกาะยึดกระดานไว้กระดานพื้นใช้เหล็กผ่าเป็นแผ่นยาว คนโบราณใช้พยามยามสูงมาก เมื่อมีเลื่อย มีสิ่ว มีขวาน มีตะปู ค้อนตี การสร้างบ้านของคนมีเงินก็ใช้ไม้เนื้อแข็งไปแทนไม้ไผ่ตามลำดับ จนไม่มีไม้ไม่มีป่าเหมือนอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ใต้ถุนบ้านสูง ก็ใช้ผูกวัว - ควาย บางบ้านก็มีคอกไก่ มีครกตำข้าว กองฟืน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเต็มไปหมด บรรพบุรุษชาวไทโย้ยยังนิยมปลูกเล้าข้าว ไว้ใกล้บ้านใต้ถุนสูง มุงด้วยหญ้าเหมือนกัน ส่วนฝาทำพิเศษ คือ เอาต้นแซง (ไม่ทราบคนทั่วไปเรียกต้นอะไรลำต้นเล็ก สูง 2 - 3 เมตร) ) นำมาสวนฝาทึบ น้ำขี้วัวขี้ควาย ผสมดิน ใส่น้ำพอเหนียว นวดได้ที่ก็ฉาบฝาทั้งข้างนอกข้างในอยู่ได้เป็น 10 ปีขึ้นไป ( ทุกวันนี้เลิกหมดแล้ว ใช้ไม้เนื้อแข็งหรือสังกะสีแทน ) ใต้ถุนเล้าสูงก็ใช้เก็บหญ้าแฝก - บางคนก็ทำคอกไก่หรือคอกหมู - บางคนก็เก็บอุปกรณ์ในการทำนามีไถ - คราด เป็นต้นเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัยยังมีอีกเยอะ เช่น เมื่อปลูกบ้านยังไม่เสร็จหรือเสร็จแต่ยังไม่ได้ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ห้ามทุกคนนอน(ทุกวันนี้ก็ยังถืออยู่) ถ้านอนถือว่าขะลำ คนโบราณนิยมหันหน้าบ้านไปทิศเหนือหรือทิศใต้ทุกวันนี้เปลี่ยนไปตามถนนไม่เลือกทิศนิยมกั้นห้องนอนเป็นสัดส่วนเหลือไว้ห้องเดียว ส่วนมากเป็นด้านทิศตะวันออกเป็นห้องพระเพราะมีหิ้งพระและผีแจก็อยู่ห้องนี้ เมื่อมีงานนิมนต์พระขึ้นบ้านก็นั่งห้องนี้ คนที่จะนอนห้องนี้ได้ ต้องเป็นลูกชายที่ยังโสด ส่วนพ่อแม่ ลูกสาวและลูกชายที่แต่งงานแล้ว นอนในห้องที่กั้นไว้ เรียกว่า " ส้วม " คนโย้ยนิยมนอนหันศีรษะไปทางทิศเหนือ และทิศใต้ ทิศอื่นขะลำ เรื่องนอนหันศีรษะนี้ไม่ตรงกับตำราธรรมนีติ ตอนว่าด้วย กตกถา แถลงกิจที่ควรทำว่า ปุพฺพสิโรสิ เมธาวี ทีฆายุ ทกฺขิณสิโรปจฺฉิเม จิตฺตสนฺโตสิ มรณํ อุตฺตโร หเว นอนหันศีรษะทางทิศตะวันออกจะมีปัญญาดี หันศีรษะทางทิศใต้จะมีอายุยืน ทางทิศตะวันตกจะมีความสงบ ทางทิศเหนือจะต้องตายเร็ว
* คำว่า " เขาเจ้า " เป็นภาษาโย้ย ภาษาไทยกลาง เรียกว่า มีคนหลายคน * คำว่า "เล้าข้าว " เป็นภาษาโย้ย ภาษาไทยกลาง เรียกว่า ยุ้งข้าว * คำว่า ขะลำ " เป็นภาษาโย้ย ภาษาไทยกลาง เรียกว่า ไม่ควรกระทำหรือไม่ควรปฏิบัติ
ผู้เก็บข้อมูลและเรียบเรียง นายคำสา ประลอบพันธุ์
|