หน้า 1 จาก 2 ประเพณีการเล่นกลองเลง กลองเลงชาวโย้ยบ้านอากาศ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ แต่เคยมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า กลองเลงทำด้วยไม้ประดู่ มีลักษณะเป็นกลองสองหน้าหุ้มด้วยหนังวัว หนังควาย กลองเลงใช้ตีในงานบุญมหาชาติ งานบุญพระเวชสันดร (บุญตูบ) เวลาตีใช้ไม้หามสองคนหันหน้าเข้าหากัน ตีคนละหน้าไปตามจังหวะ ตึม ตึบ ๆ ๆ
การเล่นกลองเลงจะนิยมเล่นในก่อนวันรวมบุญ 1 วัน พอค่ำมาก็จะมีหัวหน้าไปชักชวนกัน หลาย ๆ คนมารวมกัน แล้วก็จะพากันนำกลองเลงไปเล่นตามหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงเพื่อแผ่ปัจจัย ข้าวต้ม ขนม สุราสาโท เป็นต้น การเล่นกลองเลงจะเล่นไปเรื่อย ๆ ทุกหลังคาเรือน โดยจะมีหัวหน้าพาเซิ้งไปตามจังหวะ "โอ้ โฮ๊ะโอ สา โอ้ โฮ๊ะ โอ" ในสมัยก่อนการเล่นกลองเลงจะเล่นจนสว่าง แล้วนำเอาปัจจัยทั้งหลายไปถวายวัดในตอนเช้าของวันรวมบุญ จึงแยกย้ายกันกลับบ้าน เมื่อถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า จะนำเอากลองเลงมาเล่นอีกหรือตีไปแต่ละตูบไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาแห่พระเวสสันดร แล้วจึงไปแห่พระเวสสันดรเข้าสู่วัด โดยเวลาแห่มาตามถนนจะมีการฟ้อนตามจังหวะกลองเลงทั้งชายหญิง (1) -------------------------------------- กลองเลง : เป็นกลองสองหน้าที่มีขนาดสั้น ทำด้วยไม้ประดู่ ใช้คนหามสองคนและหันหน้า เข้าหากัน แต่ละคนจะตีไปตามจังหวะ (1) ผู้ให้ข้อมูล นายยม งิ้วไชยราช อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 4 ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
<< เริ่ม < ก่อนหน้า 1 2 ต่อไป > สุดท้าย >> |